E-Commerce, Online Marketing
E-Commerce, Online Marketing

ไม่รู้ไม่ได้! ศึกษาให้ดีเรื่อง ภาษีขายของออนไลน์ สิ่งสำคัญของคนทำธุรกิจ E-Commerce!

ภาษีขายของออนไลน์ เป็นเรื่องสำคัญที่คนทำธุรกิจทุกคนไม่ควรปล่อยผ่านเด็ดขาด เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสการซื้อของออนไลน์มีการเติบโตสูงขึ้นมาก ทำให้ผู้ใช้หลายๆ คน มองเห็นช่องทางการหารายได้เพิ่มเติม และผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์สำหรับการขายสินค้าต่างๆ หรือการทำธุรกิจ SMEs ที่เกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการรายย่อยส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไปก็คือ “การจ่ายภาษี”

ข้อกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ประกอบการรายใดในประเทศไทยที่มีรายได้จากการขายสินค้า หรือบริการ ให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่ ณ ที่ใดๆ ก็ตาม มีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเสียภาษีว่าต้องจ่ายหรือไม่? หรือต้องจ่ายเท่าไหร่ คำนวณยังไง วันนี้เราจะมาอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการจ่ายภาษีขายของออนไลน์ หรือภาษี E-Commerce ให้ทุกท่านได้ทราบกันครับ

 

  1. ธุรกิจ E-Commerce หรือการขายของออนไลน์ “ต้องเสียภาษี”

อันดับแรกเราต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ผู้ที่ขายของออนไลน์ หรือธุรกิจ E-Commerce ใดๆ ก็ตาม “จำเป็นต้องเสียภาษี” ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าในลักษณะอาชีพเสริม (มีเงินเดือนอยู่แล้ว) หรือการขายเป็นรายได้หลักก็ตาม เพราะเมื่อใดที่เราขายสินค้าได้ เท่ากับว่าเรามีรายได้เข้ามาแล้ว

 

  1. แล้วต้องเสียภาษีประเภทไหน?

การเสียภาษีจากธุรกิจ E-Commerce ต้องดูว่าผู้ประกอบการมีรูปแบบธุรกิจ และรายได้อย่างไร โดยอันดับแรกมาดูเรื่องรูปแบบธุรกิจกันก่อน ซึ่งแบ่งออกเป็น บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล

 

บุคคลธรรมดา

รูปแบบธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา คือการที่ผู้ขายไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (บริษัท, ห้างร้าน ฯลฯ) ประมาณว่า ทำเองขายเอง หรือนำสินค้ามาจากที่อื่นแล้วขายเอง เป็นต้น โดยรายได้จากการขายสินค้านี้ถือเป็น เงินได้จากการขายสินค้าและบริการ (เงินได้ประเภทที่ 8) ซึ่งจะคิดอัตราภาษีได้สองแบบ เพื่อหาว่าเราต้องจ่ายภาษีจากเงินได้ประเภทใด

– กรณีแรก มีรายได้จากการขายสินค้า หรือบริการเป็นรายได้หลัก (ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ) ต้องคิดแบบเงินได้สุทธิ (ภ.ง.ด. 91) นั่นก็คือ รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน

– กรณีที่สอง ถ้าหากเรามีงานประจำ รับเงินเดือนประจำอยู่แล้ว และยังมีรายได้จากการขายสินค้าเกิน 120,000 บาท (ต่อปีภาษี) ต้องคิดภาษี 2 แบบ คือ แบบแรกตาม ภ.ง.ด. 91 โดยยื่นเป็นรายได้จากเงินเดือน

ส่วนเงินได้จากการขายสินค้าให้คิดตามแบบเงินได้พึงประเมิน (ภ.ง.ด. 94) โดยให้นำเงินได้ (จากการขายสินค้า) ทั้งหมดคูณด้วย 0.005 ถ้าตัวเลขภาษีออกมาไม่เกิน 5,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้ามีจำนวนเกิน 5,000 บาท ให้มาเทียบกับวิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ (ภ.ง.ด. 91) อีกครั้งหนึ่งว่า การคำนวณจากฐานรายได้แบบไหนต้องจ่ายภาษีสูงกว่ากัน ให้เลือกอันที่จ่ายสูงกว่าเพียงอันเดียว

 

นิติบุคคล

รูปแบบธุรกิจแบบนิติบุคคล คือผู้ขายจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ “กำไรสุทธิตามกฎหมายภาษีอากร” โดยจะต้องเสียภาษีในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิ

 

หลังจากพอทราบรูปแบบธุรกิจกันไปแล้ว เรามาดูเรื่อง รายได้ กันต่อครับ

 

รายได้

นอกจากภาษีเงินได้ที่ต้องเสียกันแล้ว ยังมีภาษีอีกแบบหนึ่งที่การจะต้องเสีย หรือไม่ต้องเสียนั้น ขึ้นอยู่กับรายได้จากการขายสินค้า หรือบริการ นั่นก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม VAT นั่นเองครับ

โดยผู้ประกอบการจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็ต่อเมื่อธุรกิจของเรามีรายได้เกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องไปจดทะเบียนเป็น ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมจัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ถ้าใครอยากขายของให้ได้ยอดขายเป็นล้านขนาดนี้ ลองอ่านบทความนี้ดูครับ “4 วิธีขายของออนไลน์ให้ ปัง!”

 

  1. ถ้าไม่เสียภาษี โดนเรียกเก็บย้อนหลังอ่วมแน่นอน!

ผู้ทำธุรกิจออนไลน์ หรือ E-Commerce รายใดที่มีรายได้จากการขายสินค้า หรือบริการถึงเกณฑ์จะต้องเสียภาษี แต่กลับหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการไม่แจ้ง หรือไม่จ่าย ถือว่า “ผิดกฎหมาย” และต้องเสียค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยที่เรียกว่า “เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม” อีกทั้งยังอาจโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังอีกด้วย รับรองว่าไม่คุ้มแน่นอน และการโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนี้อาจทำให้ธุรกิจที่กำลังไปได้สวยต้องพังลงในพริบตาก็เป็นได้

 

หวังว่าผู้ประกอบการทุกท่านที่ได้อ่านบทความนี้แล้วจะมีความเข้าใจเรื่องของภาษีกันมากขึ้น และเราขอแนะนำให้ทุกท่านยื่นแบบ พร้อมจ่ายภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยนะครับ เพราะถ้าหากไม่จ่าย ไม่แจ้ง ไม่ทำอะไรเลย เกิดกรมสรรพากรตรวจสอบเจอขึ้นมาจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นทำให้ถูกต้องไว้ ยังไงก็ปลอดภัยครับ

 

Source : http://www.rd.go.th/publish/26218.0.html